About

งานทัศนศิลป์

     ภาพวาดฝีพระหัตถ์ ชุด “หลากลาย หลายชีวิต” ผลงานภาพวาดฝีพระหัตถ์ศิลปะกึ่งแฟนตาซีผสมผสาน ใน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานจาก “สีโคปิค” ไม่มีพิษ ไม่มีกลิ่น และไม่ทำลายสภาพแวดล้อม ในลักษณะของงานศิลปะแบบนาอีฟ (Naïve Art) หรืองานที่ไม่ใช้หลักทฤษฎีทางวิชาการของศิลปะใดๆแต่สร้างสรรค์ออกไปตามสัญชาตญาณ และความรู้สึกภายในจิตใต้สำนึก


     โดยใช้สื่อสัญลักษณ์เป็น “เสือ” ในอริยาบทต่าง ๆ ซึ่งสัมพันธ์กับบรรยากาศ ห้วงของเวลา และสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ สังคม สาระความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และประสบการณ์ชีวิตส่วนพระองค์ โดย “เสือ” มีความหมายถึงรูปสัญลักษณ์ของ “พ่อ” ผู้ทรงปกครองเหนืออาณาจักร อันสื่อความหมายถึง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ราชาผู้ปกครองแผ่นดินด้วยพระเมตตาต่ออาณาประชาราษฎร์ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนัก เพื่อประชาชนและผืนแผ่นดินที่ทรงรัก

งานออกแบบ

     จุดเริ่มต้นจากทรงได้รับเชิญจาก บริษัท แอสปรี ลอนดอน สหราชอาณาจักร ให้ร่วมเป็นนักออกแบบเครื่องประดับอัญมณี ซึ่งการออกแบบเครื่องประดับแต่ละชิ้นเกิดจากการทำภาพร่างกว่าหลายร้อยแบบ นับเป็นจุดเริ่มต้น ที่สำคัญของการทำงานศิลปะด้านงานออกแบบเครื่องประดับ โดยทรงสร้างสรรค์ภาพของดอกไม้นานาพรรณ สร้างสีสันและจัดองค์ประกอบภาพให้มีความหลากหลาย มีลวดลายและเรื่องราวที่สื่อความหมาย อันลึกซึ้งถึงผู้ใช้มากกว่าการคิดแค่เป็นเครื่องประดับ ทรงมีพระดำรัสถึงงานออกแบบเครื่องประดับ ความว่า

"เป็นการสร้างสรรค์ชิ้นงานจากต้นแบบภาพวาด ซึ่งทำให้คิดถึงแนวทางการพัฒนาผลงานศิลปะของตนให้เติบโตหรือปรับเปลี่ยนเป็นงานศิลปะด้วยเทคนิควิธีการอื่น ๆ

อีกทั้งได้นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาปรับประยุกต์ใช้เป็นส่วนหนึ่งในแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเฉพาะตน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

ถ้าได้นำความรู้ทางความคิดสร้างสรรค์ไปใช้พัฒนาต่อยอดกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่อาจก่อให้เกิดแนวทางการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ

ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในสังคมที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว"


Share by: